ในสังเวียนการพัฒนาเมืองสู่การเป็นเมืองอัจฉริยะของไทย หรือสมาร์ตซิตี้ประเทศไทยนั้น จังหวัดขอนแก่น คือดาวเด่นที่หลายๆ คนจับตามอง เพราะจุดเริ่มต้นของการพัฒนาเมืองขอนแก่นสู่เมืองอัจฉริยะนั้น เกิดขึ้นจากกลุ่มคนขอนแก่นที่เล็งเห็นปัญหาและลุกขึ้นมาจับมือกันร่วมแก้ปัญหาเหล่านั้นด้วยตนเอง โดยเป้าหมายหลักคือการแก้ปัญหาพื้นฐานความต้องการของมนุษย์ กลายเป็นโมเดลพัฒนาเมืองที่สะท้อนถึงการร่วมแรงร่วมใจกันของคนในเมือง เรียกสั้นๆ ว่า ‘ขอนแก่นโมเดล’ ซึ่งถูกนำไปใช้เป็นแนวทางขับเคลื่อนพัฒนาเมืองอัจฉริยะ ให้กับเมืองต่างๆ ทั่วประเทศไทย

ครั้งนี้เรามีโอกาสพูดคุยกับ คุณสุรเดช ทวีแสงสกุลไทย ผู้บริหาร บริษัท ขอนแก่นพัฒนาเมือง (เคเคทีที) จำกัด ผู้จะมาเล่าถึงจุดเริ่มต้นและแนวคิดสำคัญของการพัฒนาเมืองแบบขอนแก่นโมเดล รวมถึงการจัดตั้งบริษัทพัฒนาเมืองโดยภาคเอกชนแห่งแรกของไทย ซึ่งกลายเป็นต้นแบบบริษัทพัฒนาเมืองให้กับหลายจังหวัดทั่วประเทศ ให้เราได้เข้าใจกัน

ขอนแก่นโมเดล เกิดขึ้นเพราะเราไม่รอ!

คุณสุรเดชเปิดบทสนทนาด้วยการเล่าถึงจุดเริ่มต้นที่คนขอนแก่นลุกขึ้นมาพัฒนาเมืองของตนเอง ก่อนจะมีสมาร์ตซิตี้ประเทศไทยเกิดขึ้น รวมไปถึงการจดจัดตั้งบริษัทพัฒนาเมืองแห่งแรกของประเทศไทย ให้เราฟังว่า

“จุดเริ่มต้นของบริษัท ขอนแก่นพัฒนาเมือง (เคเคทีที) จำกัด นั้น ให้โฟกัสไปที่คำว่า ‘พัฒนาเมือง’ ซึ่งมาจากที่ผ่านมาเราเคยเห็นการทำงานของรัฐ ทั้งรัฐส่วนกลางและรัฐท้องถิ่น แล้วสะกิดใจให้คิดว่า ขืนยังปล่อยหรือรอให้รัฐนำทาง เมืองหรือประเทศคงพัฒนาได้ยาก ความเป็นจริงเราอยากพัฒนาประเทศมากกว่า แต่ถ้าเราพัฒนาเมืองหลายๆ เมืองได้ดี ประเทศมันก็ดีขึ้นเอง เราก็เลยใช้คำว่า ‘พัฒนาเมือง’

“เราคิดว่าถ้าเราทำขอนแก่นทำได้ มันน่าจะเป็นตัวอย่างกับเมืองอื่นๆ ได้”

“คนขอนแก่น ซึ่งในที่นี้หมายถึงลูกพ่อค้าชาวขอนแก่น ที่เรียนจบจากเมืองนอกทั้งหลาย เคยเห็นความเจริญของเมืองในต่างประเทศ ทั้งการเดินทาง คมนาคม การสัญจร เศรษฐกิจ ฯลฯ ก็คิดกันว่าจะทำอย่างไรให้ขอนแก่นพัฒนาเติบโตไปในทิศทางนั้นได้ จึงมานั่งคุยกัน เราคุยกันอยู่สองปี จนถึงปี พ.ศ. 2558-2559 จึงเริ่มจดทะเบียนบริษัท ขอนแก่นพัฒนาเมือง (เคเคทีที) จำกัด โดยเป็นการรวมตัวกันของกลุ่มธุรกิจชั้นนำในจังหวัดขอนแก่น 20 บริษัท ร่วมลงขันเป็นทุนจดทะเบียนบริษัท และเป็นเงินตั้งต้นที่ใช้หมุนเวียนพัฒนาเมือง บริษัทละ 10 ล้านบาท สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นถึงการตกผลึกทางความคิดกันก่อน คีย์สำคัญของเรื่องนี้ก็คือ การเสวนา การพูดคุยกัน ซึ่งในตอนนั้น สมาร์ตซิตี้ประเทศไทยยังไม่เกิดขึ้นเลย”

‘สมาร์ตซิตี้’ กับ ‘การพัฒนาเมืองขอนแก่น’ คือเย็นตาโฟชามเดียวกัน

“ช่วงแรก KKTT เริ่มการพัฒนาเมืองในองค์รวม มันมีความท้าทายให้พัฒนาแทบทุกเรื่อง สิ่งที่ตั้งใจพัฒนาปรับปรุง มันเป็น needs หรือความต้องการพื้นฐานของมนุษย์อยู่แล้ว เราเริ่มแบ่งการทำงานเป็นทีม แต่ละทีมก็จะดูแลงานในยูนิตของตนไป แล้วบังเอิญสิ่งที่พวกเราทำมันดันไปพ้องกับจุดมุ่งหมายของสมาร์ตซิตี้ที่เพิ่งมีขึ้นภายหลัง”

“ถ้าเปรียบเทียบไปก็คล้ายกับว่า คนขอนแก่นลุกขึ้นมาบอกว่า พวกเราจะทำก๋วยเตี๋ยวในแบบของเรา พอก๋วยเตี๋ยวของขอนแก่นเสร็จเป็นชาม ปรากฏว่ามันดันไปพ้องกับก๋วยเตี๋ยวชนิดหนึ่งที่เรียกว่า ‘เย็นตาโฟ’ โดยบังเอิญ ที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะขอนแก่นตั้งใจพัฒนา needs พื้นฐานของมนุษย์และเมืองอยู่แล้ว ซึ่งตรงกับที่สมาร์ตซิตี้ตั้งใจไว้ ชนิดของก๋วยเตี๋ยวก็เลยตรงกัน และพอประเทศชูคำว่า ‘สมาร์ตซิตี้’ ขึ้น พวกเราก็เลยอาศัยใช้คำนี้ด้วย เพราะเป็นคำใหญ่ที่รัฐบาลเขาใช้กัน

“เมื่อมีคำว่าสมาร์ตซิตี้เข้ามา เราก็ศึกษาเรื่องนี้กันอย่างจริงจัง และพบว่ามีนักวิชาการระดับโลกท่านหนึ่ง ชื่อดร.บอยด์ โคเฮน (Boyd Cohen นักวิชาการแห่งวิทยาลัยธุรกิจ EADA ในเสปน) ได้คิดค้น Smart City Wheel ขึ้น โดยในวงล้อดังกล่าว แบ่งองค์ประกอบออกเป็น 6 ด้าน ก็คือ Environment, Mobility, People, Governance, Living, Economy

“เราตัดสินใจเดินทางเราไปพบกับดร.บอยด์ โคเฮน ในงานสมาร์ตซิตี้ ที่จัดขึ้นในเมืองบาเซโลน่า ประเทศสเปน เพื่อขอคำแนะนำเรื่องการพัฒนาเมืองขอนแก่นให้เป็นสมาร์ตซิตี้ และได้เชิญท่านมาเป็นที่ปรึกษาให้กับวิทยาลัยการปกครองท้องถิ่นมหาวิทยาลัยขอนแก่น (ปี พ.ศ.2558-2561) รวมทั้งเป็นที่ปรึกษาให้บริษัท ขอนแก่นพัฒนาเมือง (เคเคเทีที) จำกัดด้วย”

การพัฒนาเมืองขอนแก่น ที่เป็นมากกว่า สมาร์ตซิตี้

คุณสุรเดช อธิบายต่อไปว่า “สมาร์ตซิตี้เป็นเรื่องของ aria district แต่สิ่งที่ขอนแก่นทำมันมากกว่าเพราะเป็น province (จังหวัด) และวันนี้ทางจังหวัดก็ช่วยกันเดิน ช่วยกันทำด้วย จากแรกเริ่มคือ พัฒนา 5 เขตเทศบาลในเมืองขอนแก่นก่อน (เทศบาลนครขอนแก่น เทศบาลเมืองศิลา เทศบาลตำบลศิลา เทศบาลตำบลสำราญ เทศบาลตำบลท่าพระ) แล้วท่านผู้ว่าราชการจังหวัด ก็ได้ขยายพื้นที่ที่จะพัฒนาไปในเขตอำเภอต่างๆ (อ.น้ำพอง อ.บ้านไผ่ อ.ชนบท อ.ชุมแพ อ.ภูเวียง อ.เวียงเก่า โดยสามอำเภอแรก คือ น้ำพอง บ้านไผ่ ชนบท จะเป็นหัวเมืองใหญ่บริวารของจังหวัดขอนแก่น รองรับและเป็นหน่วยที่ให้บริการด้านต่างๆ)

“นักพัฒนาเมือง นักปกครอง หรือนักวิชาการหลายท่านจึงมองว่า ขอนแก่นคิดเรื่องยากมากๆ มันเป็นการพัฒนาแบบองค์รวมที่นำไปสู่ความยั่งยืน โดยไม่ละสายตาจากเป้าหมายคือ แก้ปัญหาสำคัญ ได้แก่ ขจัดปัญหาความยากจน ลดความเหลื่อมล้ำ เพิ่มการเข้าถึงของโอกาสให้เท่าเทียมกัน และการคอร์รัปชั่นลดลง

“การจะไปถึงจุดนั้นได้ต้องได้รับการร่วมมือกับทุกภาคส่วนในขอนแก่น และเราจำเป็นต้องได้รับการอนุญาต อนุมัติ และสนับสนุน จากหน่วยงานภาครัฐของประเทศ ให้สามารถดำเนินโครงการที่ร่างไว้ตามแผน ประเด็นนี้จึงต้องใช้ศิลปะและทักษะในการปฏิสัมพันธ์และการเจรจา (Soft Skill) อย่างมาก ทำให้วันนี้จังหวัดขอนแก่นมีหนังสืออนุญาตจากราชการรวม 6 ใบ ที่เป็นเสมือนใบเบิกทางในการพัฒนาเมืองจากภาครัฐ ให้จังหวัดสามารถขับเคลื่อนพัฒนาตนเองตามแผนที่วางเอาไว้ได้

“ถ้าจะพูดจริงๆ สิ่งที่ขอนแก่นทำ มันเป็นคำใหญ่กว่าสมาร์ตซิตี้ นั่นคือ คำว่า ‘activity’ ถ้านำคำว่าสมาร์ตซิตี้มาครอบ มันก็ยังครอบได้อยู่ แต่ไม่มิดนะ สิ่งที่แพลมออกมาก็คือ แผนของยุทธศาสตร์การพัฒนา เพราะขอนแก่นสมาร์ตซิตี้ เราได้นำเอาเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนทั้ง 17 เป้าหมายของสหประชาชาติ (SDGs -Sustainable Development Goals) มาเป็นตัวหลักในการทำยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดขอนแก่น เพื่อให้เมืองขอนแก่นพัฒนาไปอย่างยั่งยืน” คุณสุรเดชกล่าว

ขอนแก่นโมเดล เรียนรู้เป็นแนวทางได้ แต่ copy and paste ไม่ได้

คุณสุรเดชกล่าวว่า หลังจากขอนแก่นโมเดลได้รับการยอมรับในด้านการพัฒนาเมืองอย่างมาก ทำให้มีโอกาสนำความรู้ที่เกิดขึ้น ส่งต่อให้กับเมืองต่างๆ ที่ต้องการพัฒนาจังหวัดหรือเมืองของตนให้เป็นสมาร์ตซิตี้ ทว่าจุดนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย และเคยสร้างความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนขึ้น จึงต้องทำเป็นองค์ความรู้แบ่งออกมาทีละระดับ เป็นทั้งหมด 6 ระดับขั้นตอน

“เวลาเราไปบรรยายให้เมืองต่างๆ ฟัง เราก็บอกเขาหมด คำว่าเรา ก็มีทั้ง สกสว. (ผศ.ดร.ปุ่น เที่ยงบูรณธรรม) สมาคมผังเมือง (อาจารย์ฐาปนา บุณยประวิตร) เราจะบอกเขาว่าการพัฒนาเมืองนั้นมันมีเลเวล สมมติว่ามี 1-6 เลเวล อะไรแบบนี้ แล้วมาดูว่าเมืองที่เขาต้องการพัฒนานั้นเขาไปถึงเลเวลไหนกัน ส่วนใหญ่เขาขึ้นมาได้ประมาณเลเวล 1 เท่านั้น สิ่งที่น่ากังวลก็คือ พอเป็นเลเวล 1 แล้ว บางทีคนก็นึกว่าสำเร็จแล้ว แต่มันไม่ใช่ เลเวล 1 มันเป็นแค่เลเวล 1 แล้ววันที่เราไปอธิบาย เราพยายามสื่อสารว่า

“หลายๆ อย่างที่เกิดขึ้นในขอนแก่น มันไม่สามารถ copy and paste ได้ เพราะโครงสร้าง และความสัมพันธ์ ของแต่ละเมือง มันมีทั้ง soft และ hard”

“ประวัติศาสตร์ขอนแก่น กับประวัติศาสตร์เมืองของเขา ความร่วมมือก็ไม่เหมือนกันแล้ว การพัฒนาเมืองมันมีหลายเลเวล ซึ่งสิ่งแรกที่ต้องทำก่อนที่จะก้าวไปสู่เลเวล 1 คือการรวมตัว เอกชนต้องรวมตัวกันให้ได้ก่อน อย่างขอนแก่น เอกชนใช้เวลารวมตัวกันถึงสองปี แต่พอเมืองอื่นๆ มาเห็น ก็เกิดอาการรีบ อยากทำตาม มันก็เกิดการบ่มมะม่วง ซึ่งมะม่วงที่บ่มอาจจะไม่สุก เน่า เสีย หรือถ้าสุก ก็กินแล้วไม่อร่อย

“พอเรารวมตัวได้แล้ว จึงขยับสู่เลเวล 1 ที่ต้องเข้าใจ นั่นคือรู้หน้าที่ รัฐบาล เอกชน ประชาสังคม ประชาชน การศึกษา ตรงนี้ต้องถามว่ารู้ไหม? ไม่ใช่บอกว่าเรารวมตัวกันแล้วเจ๋งแล้ว มันไม่ใช่ มีหลายๆ เมืองที่พอรวมตัวกันได้แล้วมันเกิดความอหังการขึ้นมา ซึ่งนั่นคือจุดที่ทำให้ความไม่สำเร็จเกิดขึ้น

“ต่อมาก็เลเวล 2 ต้องรู้ว่าจุดมุ่งหมายเพื่ออะไร มารวมตัวกันเพื่ออะไร บางคนเขาบอกว่า รวมตัวกันแล้วดี ดังเหมือนขอนแก่น แต่วัตถุประสงค์ของขอนแก่นคืออะไร เพื่ออะไร ขอนแก่น เด็ก เมือง ประเทศ อนาคต มาถึงเลเวล 3 สิ่งที่ต้องรู้ รวมตัวกันแล้วก็ต้องรู้ เช่น เมืองที่ดีคืออะไร ราง เกษตร soft skill ผลัดกันนำ Mobility, Quintuple Helix Model, Triple Bottom Line และ Smart City คือเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม ที่จะนำพาความยั่งยืน

“สามเลเวลที่กล่าวมา ถือเป็นเรื่องใหญ่ที่ต้องทำให้ได้ก่อนที่จะก้าวไปสู่เลเวล 4 คือ จะแก้ pain point อย่างไร เลเวล 5 การเสวนา รู้ความต้องการ และ design thinking และเลเวล 6 ใคร ทำอะไร ที่ไหน

“เราพยายามบอกแต่ละเมือง แต่ที่ผ่านมาเราก็มีจุดผิดพลาด นั่นคือการไปบรรยายแต่ละครั้ง เราคิดว่าผู้ฟังเขารู้เรื่อง นึกว่าเขาเข้าใจ แต่พอวันที่เขางอกสิ่งที่เขาเข้าใจขึ้นมา เราจึงรู้ว่าความเข้าใจของเขานั้นมันผิด บางคนก็บอกไม่สำเร็จ ทำไงดี? เราจึงเข้าใจแล้วว่า เรื่องนี้มันต้องค่อยเป็นค่อยไป อย่างขอนแก่นกว่าจะคุยกันมา ใช้เวลาตั้งสองปีกว่าจะเซ็ตบริษัท พอเราไปพูดให้เมืองอื่นฟัง แล้วเขาตั้งบริษัทภายในวันนั้นเลย มันก็เหมือนกับบ่มมะม่วงแล้วรสชาติมันไม่อร่อยนั่นแหละ บางทีมันเน่าไปซะด้วยซ้ำ มันเสียเวลาคน แต่การพัฒนาเมืองมันใช้เวลา มันไม่ได้สายเกินไปหรอก เรามาย้อนทำความเข้าใจกันใหม่

“เมื่อคิดได้แบบนี้ เราจึงตั้งสถาบันใหม่ชื่อ ABLE ขึ้นมา (A-Actionable, B-Balance, L-Life Long Learning, E-Empathy) โดยทำหลักสูตรเกี่ยวกับการพัฒนาเมือง ซึ่งได้ รศ.ดร.ศุภวัฒนากร วงศ์ธนวสุ อดีตคณบดีวิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น และรศ.ดร.รวี หาญเผชิญ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นผู้จัดการหลักสูตร โดยหลักสูตรดังกล่าวเปิดให้สำหรับผู้ที่สนใจเกี่ยวกับการพัฒนาเมือง โดยมีให้เลือกทั้งหลักสูตรทั้งรูปแบบออนไลน์และออฟไลน์  และเป็นเครดิตแบงก์ที่สามารถใช้เป็นหน่วยกิตสะสมเพื่อต่อยอดในการศึกษาได้ด้วย

“ซึ่งต้องให้เครดิตทางจังหวัด ทั้งจากท่านรองผู้ว่า และท่านผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น ที่ท่านเปิดใจเป็นน้ำไม่เต็มแก้ว เพราะพอท่านเริ่มศึกษาเรื่องเกี่ยวกับการพัฒนาเมืองอย่างที่เคเคทีทีนำเสนอ ทั้งท่านผู้ว่าฯ สมศักดิ์ จังตระกุล และรองผู้ว่าฯ ศรัทธา คชพลายุกต์ ก็บอกว่า แนวทางที่เคเคทีทีกำลังทำอยู่นี้เป็นเรื่องที่ดีมาก แต่คนทั่วไปฟังแค่แป๊บเดียวคงไม่เข้าใจ ยิ่งข้าราชการที่ย้ายมาใหม่ก็คงไม่รู้เรื่อง จึงได้สร้างหลักสูตร ABLE ขึ้นมาแล้วทำหลักสูตรอบรมระยะ สั้น กลาง ยาว ขึ้นมา เพื่อให้ข้าราชการที่เข้ามาบรรจุใหม่ได้เข้าใจและเห็นภาพรวมเป็นภาพเดียวกัน จะได้ช่วยกันพัฒนาเมืองไปในทิศทางเดียวกัน”

Think Tank ไม่ใช่ Action

คำว่า KKTT ในชื่อบริษัท ขอนแก่นพัฒนาเมือง (เคเคทีที) จำกัด นั้นย่อมาจาก Khon Kaen Think Tank ซึ่งคุณสุรเดช กล่าวย้ำกับเราว่า “Think Tank ไม่ใช่เป็นผู้ผลักดัน Think Tank ก็คือ Think Tank ส่วน action ก็คือ action  ดังนั้น action ที่เกิดขึ้นในจังหวัดขอนแก่นเกิดจากจังหวัด เทศบาล อบจ. เห็นด้วยกับ Think Tank

“ที่ผ่านมาจังหวัดขอนแก่น เกิดบริษัท ขอนแก่น ทรานซิท ซิสเต็ม จำกัด หรือ KKTS ซึ่งเป็นบริษัทจำกัดที่จัดตั้งขึ้นโดยการร่วมมือของ 5 เทศบาล คือ เทศบาลนครขอนแก่น เทศบาลเมืองศิลา เทศบาลตำบลเมืองเก่า เทศบาลตำบลสำราญและเทศบาลตำบลท่าพระ เพื่อดำเนินโครงการก่อสร้างระบบขนส่งมวลชนระบบรางเบาสายเหนือ-ใต้ ของจังหวัดขอนแก่น

“นับเป็นการจดจัดตั้งวิสาหกิจเทศบาลเป็นครั้งแรกของประเทศไทย โดยดำเนินการภายใต้พระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ.2496 มาตรา 57 โดยการร่วมมือดังกล่าวเกิดขึ้นเพื่อสานต่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมด้วยระบบราง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินงานในโครงการขอนแก่นสมาร์ตซิตี้ ระยะที่ 1 มีจุดประสงค์เพื่อพัฒนาโครงสร้างเมืองและการจัดตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐานจากการลงทุนจากภาคเอกชนดำเนินการ โดยมีการจดจัดตั้งบริษัทขึ้นในวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ.2560 ซึ่ง KKTS คือ action ที่เกิดขึ้นเนื่องจากเห็นด้วยกับ Think Tank

“การจะผลักดันให้เกิดสิ่งนี้ได้ ต้องมีศิลปะของ Think Tank ต้องมี soft skill รู้วิธีที่จะไป lead up หรือการอธิบายกลุ่มผู้นำ”

“นั่นคือจังหวะและโอกาส ที่ต้องรู้ว่าวันนี้ถ้ามีโอกาสเจอหัวหน้าในสถานการณ์นี้ ข้อมูลประเภทไหน หรือชุดความคิดอะไรที่เราจะไปอธิบายหัวหน้าเรา”

หัวใจสำคัญที่จะทำให้ขอนแก่นสมาร์ตซิตี้สำเร็จคืออะไร?

เมื่อตั้งคำถามนี้ คุณสุรเดช ตอบกลับมาสั้นๆ แต่ได้ใจความแจ่มชัดว่า “collaboration กับสานเสวนา สองเสานี่แหละคือหัวใจสำคัญ ที่บอกแบบนี้ก็เพราะ ถ้า collaboration กันได้ แสดงว่า ego ต่ำ และเมื่อใดที่เมืองหรือประเทศ มีสามสิ่งที่กล่าวมา คือ collaboration การสานเสวนา และผู้ร่วมงานมี ego ต่ำ ปัญหาทุกอย่างแม้จะเป็นปัญหาระดับประเทศระดับโลก ก็จะถูกแก้ไขไปได้ด้วยดีทั้งหมด ซึ่งทั้งสามสิ่งที่กล่าวมามีอยู่ในกลุ่มคนที่พัฒนาเมืองขอนแก่น ทำให้วันนี้ขอนแก่นจึงสามารถเป็นโมเดลพัฒนาเมืองที่หลายเมืองยอมรับ”

อย่าละสายตาจากเป้าหมาย แล้วเราจะไปถึงเป้าหมาย

“เป้าหมายที่พวกเราต้องการพัฒนาเมืองก็คือ ต้องการให้ปัญหาความยากจนลดลง ความเหลื่อมล้ำลดลง โอกาสการเข้าถึงเพิ่มขึ้น ความโปร่งใสเพิ่มขึ้น สิ่งที่เราพยายามทำอยู่นี้ไม่มีอะไรเปลี่ยน มันเป็นเป้าหมายหลักมาตั้งแต่แรก”

“ถ้าพวกนี้ดี เมืองจะดี ทุกอย่างจะดีขึ้นได้เอง”

“สี่เรื่องที่กล่าวข้างต้น เป็นเป้าหมายหลัก เป็น end ซึ่งในเป้าหมายหลักนี้มีโครงการต่างๆ รวมแล้ว 129 โครงการ แต่โครงการเหล่านี้ผมเรียกว่า mean ซึ่ง mean คือสิ่งที่ต้องกระทำเพื่อจะไปให้ถึง end แต่สิ่งที่ประเทศเรามักจะเป็นกันก็คือระหว่างที่เราทำ mean อยู่ เราชอบนึกว่า mean คือ end เราหลงทาง เพราะพวกเราขาดความมุ่งมั่น คือสายตาเราไม่เกาะอยู่ที่ end ตลอด พอเราคิดว่า mean คือ end เมื่อไร เราก็ไปมัวทะเลาะเบาะแว้งกันอยู่ตรง mean

“ยกตัวอย่างเหมือนจะทำผัดกะเพรา แล้วมัวแต่สับหมูใหม่อยู่นั่น บอกว่าสับอย่างนั้นไม่ถูก ละเอียดไป หยาบไป มัวแต่คัดสรรวัตถุดิบไม่ลงมือผัด เพราะคิดว่าการสับหมูใหม่หรือการคัดสรรวัตถุดิบมันคือกะเพรา สรุปตอนจบก็คงไม่ได้กินกะเพราสักที เพราะฉะนั้น end ต้องชัดเจน จุดจบคืออะไร จะไปไหนกัน มันต้องตอบให้ได้”

เป็นการปิดบทสนทนา ด้วยแนวคิดที่เฉียบคม ตรงไปตรงมา สมกับเป็นการให้สัมภาษณ์จากผู้บริหารของ บริษัทขอนแก่นพัฒนาเมือง (เคเคทีที) จำกัด บริษัทที่เป็น Think Tank ของคนขอนแก่น และเมืองอื่นๆ ที่จะก้าวสู่การเป็นสมาร์ตซิตี้

สมาร์ตซิตี้ขอนแก่นวันนี้มีอะไรแล้วบ้าง

ภายใต้เป้าหมายการพัฒนาเมืองขอนแก่นสมาร์ตซิตี้ เพื่อแก้ไขความท้าทายของจังหวัดขอนแก่น ทั้ง 7 หมวด รวมแล้ว 129 โครงการ มีทั้งที่ทำแล้วเสร็จแล้ว และกำลังจะดำเนินงาน เราไปดูกันดีกว่าว่ามีอะไรที่น่าสนใจ และเกิดขึ้นแล้วบ้าง

1. Smart Environment ดำเนินการโดยเทศบาลนครขอนแก่น

• โรงเผาขยะที่ไม่สร้างมลพิษ และสามารถแปลงเป็นพลังงานไฟฟ้า

 2. Smart Living ดำเนินการโดย depa และ รศ.ดร.รินา ภัทรมานนท์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

• โครงการ Khon Kaen Smart Health (ได้รับรางวัลโครงการเมืองอัจฉริยะยอดเยี่ยมในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ในการประกาศรางวัล IDC Smart City Asia Pacific (SCAPA) ประจำปี 2561) ซึ่งเป็นโครงการริเริ่มที่สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลร่วมมือกับจังหวัด ผู้ให้บริการสาธารณสุข และมหาวิทยาลัยในขอนแก่น โดยโครงการประกอบด้วยสามองค์ประกอบคือ

1. รถพยาบาลอัจฉริยะ (Smart Ambulance) ที่ใช้เทคโนโลยีการประชุมทางไกล (Teleconference) IOT และเทคโนโลยี โรโบติกส์ (robotic) ที่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพงานช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉิน และช่วยให้แพทย์สามารถทำการวินิจฉัยเบื้องต้น หรือเริ่มกระบวนการรักษาฉุกเฉินได้ก่อนที่ผู้ป่วยจะมาถึงโรงพยาบาล

2. บริการด้านสุขภาพเชิงป้องกัน จากสายรัดข้อมืออัจฉริยะ (Smart Wristband) ระบบบ้านอัจฉริยะ (Smart Home) เพื่อจัดเก็บข้อมูลเชิงสุขภาพ และให้คำแนะนำสุขภาพกับประชาชน

3. พัฒนาระบบเทคโนโลยีบล็อกเชน (blockchain) เพื่อวิเคราห์ big data เพื่อจะเป็นประโยชน์ต่อการแบ่งปันข้อมูลทางการแพทย์ที่บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขทั้งภาครัฐและเอกชนสามารถเข้าถึง

• เสาไฟอัจฉริยะ (Smart Pole) สายไฟฟ้าลงดิน กล้องวงจรปิดอัจฉริยะ อินเตอร์เน็ต IoT ซึ่งกลุ่มเบญจจินดาได้ร่วมลงนามเอ็มโอยูกับเทศบาลนครขอนแก่น

3. Smart Mobility ดำเนินการโดย depa และ KKTS

•ได้รับการอนุมัติให้ดำเนินการสร้าง รถไฟฟ้ารางเบา (LRT) เริ่มดำเนินการสร้างภายในปี พ.ศ.2564 ถือเป็นโครงการสำคัญของจังหวัดขอนแก่น เพราะเป็นการปรับโครงสร้างเมืองให้เกิดการคมนาคมที่สะดวกขึ้น เหมาะสมต่อการลงทุน ช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับพื้นที่โดยรอบ ซึ่งจะก่อเกิดเม็ดเงินที่จะหมุนเวียนเข้าสู่เมือง ไว้เพื่อเป็นเงินทุนในการพัฒนาเมืองขอนแก่นต่อไป

โครงการรางสร้างเมือง-รางสร้างไทย โดยมี K-City ของประเทศเกาหลีเข้ามาร่วม โดยกำลังทำการศึกษา ซึ่งโครงการดังกล่าวเป็นการออกแบบแผนธุรกิจด้วยการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ชุมชน กิจกรรมเชิงพาณิชย์ และพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกรอบบึงแก่นนคร โดยเชื่อมต่อด้วยระบบขนส่งสาธารณะ ‘รถแทรมน้อย’ ซึ่งได้รับมอบมาจากเมืองฮิโรชิม่า ประเทศญี่ปุ่น

•โครงการขอนแก่นซิตี้บัส ให้บริการ ตั้งแต่ 07.00 น.-21.00 น. จาก บขส.3 และสนามบิน วิ่งเป็นเส้นทางวงกลมรอบเมือง ทั้งสนามบินขอนแก่นและในเมืองขอนแก่น ราคาเด็ก 10 บาท ผู้ใหญ่ 15 บาท มีตู้จ่ายค่าโดยสารเองบนรถ และฟรีไวไฟ

4. Smart Economy ดำเนินการโดย TCDC เทศบาลนครขอนแก่น มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน ศรีจันทร์คลับ และ CP

•โครงการฟื้นฟูย่านเก่าให้เป็นศูนย์กลางเมืองสร้างสรรค์เพื่อรองรับคนรุ่นใหม่ (Creative District) ภายใต้ชื่อโครงการศรีจันทร์ซอดแจ้ง Walking Street

• Smart Farming ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในจังหวัด โดยผสานกับ Smart Energy เช่น ใช้โซลาร์เซลล์เพื่อสูบน้ำขึ้นมาใช้ในการเกษตร

• หอประชุมนานาชาติ KICE เพื่อตอบโจทย์การเป็นเมืองแห่งการประชุมและสัมมนา (Mice City)

5. Smart Energy ดำเนินงานโดยมหาวิทยาลัยขอนแก่น

• อาคารต้นแบบอนุรักษ์พลังงาน ที่ใช้พลังงานสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Energy Building) ในมหาวิทยาลัยขอนแก่น

6. Smart People ดำเนินงานโดยเทศบาลนครขอนแก่น

• ชุดโครงการ 43 Innovations  เป็นโครงการของเทศบาล ที่ต้องการบูรณาการแนวคิดโดยใช้คนรุ่นใหม่ของเมืองมาระดมความคิดกัน ร่วมกับมหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยรศ.ดร.รวี หาญเผชิญ จนตกตะกอนออกมาเป็น 43 นวัตกรรม

7. Smart Governance ดำเนินงานโดยจังหวัดขอนแก่น และเทศบาลนครขอนแก่น

• ปรับแผนยุทธศาสตร์โครงสร้างพัฒนาจังหวัด Smart City Solution จาก 6 ด้าน เป็น 7 ด้าน (เพิ่ม Smart Energy )

• มีแผนจัดทำ E-Government ระบบดิจิทัลคู่ขนานกัน หลังจากการเลือกตั้งเทศบาล-นายกเทศมนตรี

• แอปพลิเคชั่น EPAM ซึ่งเป็นแอปพลิเคชั่น สำหรับการประชุมออนไลน์ของจังหวัด โดยปราศจากการใช้กระดาษ

เหล่านี้คือเส้นทางการพัฒนาเมืองขอนแก่นให้ก้าวสู่สมาร์ตซิตี้ ที่คนขอนแก่นเดินทางกันมา จนเริ่มปรากฏเค้ารางความเป็นไปได้ ให้พอทำนายว่า อีกไม่นานพวกเขาคงได้ก้าวขึ้นไปปักธงชัยตรงหมุดหมายที่ตั้งใจเอาไว้อย่างแน่นอน

ที่มา : greenery.org


Poster : kktt | 10 เมษายน 64 00:00:00


© 2024 Khon Kaen City Development (KKTT) Co., LTD. All rights reserved.

Web Design & Development by Smilehost.asia